หมู่บ้านที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปี 2563
Content 1: หมู่บ้านที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปี 2563
กรมการปกครองได้จัดทำโครงการคัดเลือกหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) ประจำปี 2563 และสานต่อโครงการดังกล่าวในปี 2564 เพื่อสร้างแรงจูงใจ และให้รางวัลแก่คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ สามารถเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานให้แก่หมู่บ้านอื่น ๆ โดยการดำเนินการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ ระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับภาค
สามารถดูรายชื่อของหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปี 2563 ได้ที่ www.คณะกรรมการหมู่บ้าน.com/best-village-2563/
Content 2: หมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง”
กรมการปกครองมีนโยบายการสร้างความเข้มแข็งระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยดำเนินการส่งเสริมให้หมู่บ้านเข้มแข็ง ตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” ประกอบไปด้วยหลักการสำคัญดังต่อไปนี้
- การพัฒนาด้านคน สังคม และเศรษฐกิจ อย่างสมดุลโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา
- การใช้พื้นที่หมู่บ้านเป็นพื้นฐานของการพัฒนา เนื่องจากหมู่บ้านเป็นพื้นฐานการปกครองที่ประชาชนมีความรักและความผูกพันอย่างใกล้ชิด
- การใช้แนวทาง “บวร” หรือ “บรม” เป็นเครื่องมือในการพัฒนา กล่าวคือ มีการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้ง บ้าน ศาสนา และราชการ เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในพื้นที่
โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ที่ทำงานอยู่ในหมู่บ้านด้วยจิตสาธารณะ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้าน และบูรณาการจัดทำแผนพัฒนา เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนชาวไทยทุกคน
Content 3: ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด รวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ทางสายกลาง คำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงปรับปรุงพระราชทานเป็นที่มาของนิยาม “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” บนเงื่อนไข “ความรู้” และ “คุณธรรม”
Content 4: ใครเป็นใครในหมู่บ้าน (โครงสร้างของคณะกรรมการหมู่บ้าน)
กฎหมายกำหนดให้มี “คณะกรรมการหมู่บ้าน” หรือ “กม.” เป็นผู้เสนอแนะและให้คำปรึกษาผู้ใหญ่บ้านในการปฏิบัติหน้าที่ จึงถือได้ว่าคณะกรรมการหมู่บ้านเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ โดยเริ่มแรกกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้าน ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการ และกรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่น้อยกว่า 2 คน
แต่ปัจจุบันกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2551 เกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยยึดหลัก “การบูรณาการคน และบูรณาการงานในหมู่บ้าน”)
โครงสร้างของคณะกรรมการหมู่บ้าน ประกอบด้วย
- คณะกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง ได้แก่
– ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน
– ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
– สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภูมิลำเนาในหมู่บ้าน (ส.อบต. สท. สจ.)
– ผู้นำ หรือผู้แทนกลุ่มองค์กร ในหมู่บ้าน
- คณะกรรมการหมู่บ้านโดยการเลือก
- ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประชาชนในหมู่บ้านเป็นผู้เลือก (หมู่บ้านละอย่างน้อย 2 คน แต่ไม่เกิน 10 คน)
Content 5: บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมหมู่บ้าน
บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้านนั้น ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเน้นให้ “ทำงานเป็นทีม” โดยให้คณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีอยู่มากมาย ดังนี้
- การช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาผู้ใหญ่บ้าน ในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ทั้งการอำนวยความเป็นธรรม การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งการเป็นผู้ช่วยนายอำเภอของผู้ใหญ่บ้าน
- การปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย เช่น การประนีประนอมข้อพิพาทในหมู่บ้าน เป็นต้น
- การทำงานตามที่นายอำเภอมอบหมาย เช่น การเฝ้าระวังและป้องกันโรคที่แพร่ระบาด การเฝ้าระวังเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การสำรวจข้อมูลต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เป็นต้น
- การทำงานตามที่ผู้ใหญ่บ้านร้องขอ เช่น การสำรวจข้อมูลที่ต้องเข้าถึงทุกครัวเรือน การขอรับบริจาคในงานบุญประเพณีหรืองานประจำปีของหมู่บ้าน เป็นต้น
- การบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน หากมีอยู่แล้วให้ปรับปรุงให้มีความทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ หากยังไม่มีให้เริ่มเขียนแผนพัฒนาหมู่บ้าน
- การบริหารจัดการกิจกรรมในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรอื่นทุกภาคส่วน เพราะทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นในหมู่บ้านต้องผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านก่อนเสมอ
Content 6: คณะทำงานทั้ง 7 ด้านของคณะกรรมการหมู่บ้าน
นอกจากคณะกรรมการหมู่บ้านจะมีหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้าน การปฏิบัติหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ. 2551 ยังกำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้าน แบ่งออกเป็นคณะทำงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย ดังนี้
- ด้านอำนวยการ
- ด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย
- ด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน
- ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ
- ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข
- ด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
- ด้านอื่น ๆ เช่น ด้านเยาวชน ด้านการพัฒนาการเกษตร เป็นต้น
Content 7: ขั้นตอนการ “บูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน” ต้องทำอย่างไร ?
ขั้นตอนการ “บูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน” มีทั้งสิ้น 8 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- การจัดเก็บข้อมูลครัวเรือน ข้อมูลหมู่บ้าน : โดยคณะกรรมการหมู่บ้านออกแบบการจัดเก็บข้อมูล และมอบหมายให้ผู้นำหมู่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บข้อมูล
- การเตรียมการประชุมหมู่บ้าน : เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว คณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่สรุป รวบรวม และวิเคราะห์ในเบื้องต้นก่อนจัดร่างแผนพัฒนาหมู่บ้าน นำเสนอในที่ประชุมหมู่บ้าน
- การประชุมหมู่บ้าน : มีการจัดการประชุมขึ้นเพื่อทบทวนปรับปรุง “แผนพัฒนาหมู่บ้าน” โดยที่ประชุมฯ อาจมีมติเห็นชอบหรือมีการเพิ่มเติมข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น หรือตัดทอนส่วนที่ไม่จำเป็นออก
- การจัดทำ “แผนพัฒนาหมู่บ้าน” : หลังจากประชุมหมู่บ้านตามขั้นตอนที่ 3 และได้ข้อสรุปแล้ว คณะทำงานด้านจัดทำ “แผนพัฒนาหมู่บ้าน” จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากการประชุมหมู่บ้านไปจัดทำ “ร่างแผนพัฒนาหมู่บ้าน” เป็นรูปเล่มเพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้ความเห็นชอบและรับรองเป็น “แผนพัฒนาหมู่บ้าน”
- การให้ความเห็นชอบ และรับรองแผนพัฒนาหมู่บ้าน : ถ้าในที่ประชุมเห็นชอบ ผู้ใหญ่บ้านจะลงนามรับรองและประกาศใช้เป็น “แผนพัฒนาหมู่บ้าน” หากมีแก้ไข้เพิ่มเติมข้อมูลก็ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ แล้วให้ผู้ใหญ่บ้านลงนามรับรอง
- การประสานและการใช้ “แผนพัฒนาหมู่บ้าน” : คณะที่ทำงานด้านแผนพัฒนาหมู่บ้านจะจัดเก็บแผนพัฒนาหมู่บ้านไว้ใช้ประโยชน์ในการป้องกัน แก้ไขปัญหาและพัฒนาหมู่บ้าน
- การตรวจสอบและการติดตามการดำเนินการตาม “แผนพัฒนาหมู่บ้าน” : โดยคณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ตรวจสอบและติดตามการดำเนินการตาม “แผนพัฒนาหมู่บ้าน”
- การทบทวนปรับปรุง “แผนพัฒนาหมู่บ้าน” : ดำเนินการทบทวนปรับปรุงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ “แผนพัฒนาหมู่บ้าน” มีความเป็นปัจจุบันมากที่สุด
Content 8: กองทุนกลางพัฒนาหมู่บ้าน
ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้าน การปฏิบัติหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้านจัดตั้งกองทุนกลางพัฒนาหมู่บ้านขึ้นเพื่อเป็นกองทุนในการบริหารจัดการและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน ตลอดจนกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านได้
ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันเงินกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้านมีอยู่มากมายหลายกองทุน ซึ่งกองทุนดังกล่าวก็จะมีการกันเงินจากกำไรส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน ซึ่งก็สามารถนำมาสมทบเป็นกองทุนกลางพัฒนาหมู่บ้านได้ นอกจากนั้นหมู่บ้านเองยังสามารถจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้ไว้ใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านได้เช่นกัน เช่น การจัดทอดผ้าป่า การจัดงานเลี้ยง หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ เช่น กินเลี้ยงโต๊ะจีน รำวงชาวบ้าน รำวงย้อนยุคหรืองานรื่นเริงอื่น ๆ ตามประเพณี หรือวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านเพื่อหารายได้มาสมทบเป็นเงินค่าใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้านหรือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน ค่าน้ำมันหรือพาหนะของคณะกรรมการหมู่บ้านในการเดินทางไปร่วมประชุมสัมมนา หรือติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอกหมู่บ้าน เป็นต้น
Content 9: การประนีประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน
คณะกรรมการหมู่บ้านมีอำนาจหน้าที่ในการประนีประนอมข้อพิพาทในระดับหมู่บ้านตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ. 2530 ดังนี้
- ลักษณะของข้อพิพาทที่จะทำการประนีประนอมข้อพิพาทนั้น ๆ เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับ
1.1 คดีแพ่งทุกประเภท
1.2 คดีอาญาประเภทความผิดที่ยอมความกันได้
1.3 คู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงให้คณะกรรมการหมู่บ้านประนีประนอมข้อพิพาท
1.4 ข้อพิพาทดังกล่าวเกิดขึ้นในหมู่บ้านหรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลาเนาในหมู่บ้าน
- ขั้นตอนการประนีประนอมข้อพิพาทโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน
2.1 เกิดกรณีพิพาท
2.2 คู่กรณีแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ
2.3 ผู้ใหญ่บ้านแจ้งให้คู่กรณีทราบ มาตกลงทำบันทึก
2.4 ผู้ใหญ่บ้านนัดหมายคณะกรรมการหมู่บ้าน
2.5 คณะกรรมการหมู่บ้านจัดหากรรมการประนีประนอมข้อพิพาท
2.6 กรรมการประนีประนอมข้อพิพาททำการไกล่เกลี่ย
2.7 คณะกรรมการหมู่บ้านทำบันทึกหลักฐานในการประนีประนอมข้อพิพาท
2.8 ผู้ใหญ่บ้านรายงานผล
Content 10: การวิเคราะห์ประเมิน (SWOT) ช่วยพัฒนาศักยภาพของชุมชน
SWOT (SWOT Analysis) เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบสภาพองค์กรทั้งภายในและภายนอก โดยจะทำการวิเคราะห์ข้อมูล 4 ด้าน คือ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค เพื่อแก้ไขปัญหาภายในและภายนอกขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น SWOT จึงมีความสำคัญและจำเป็นในขั้นพื้นฐานอย่างมากสำหรับการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน เพราะถือเป็นเครื่องมือที่เข้าใจง่ายและใช้งานได้ง่าย โดยเป็นการวิเคราะห์ศักยภาพจากภายในและภายนอกสิ่งที่เราคุ้นเคย คุ้นชินในทุกวัน และนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์มาวางแผนการพัฒนาหมู่บ้านให้ดีและมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
Content 11: ตัวอย่างโครงการของหมู่บ้านด้านเศรษฐกิจ
การยกตัวอย่างเป็นการทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งตัวอย่างโครงการของหมู่บ้าน ด้านเศรษฐกิจ ที่น่าสนใจและควรปฏิบัติในหมู่บ้านของตนเอง มีดังต่อไปนี้
- โครงการหรือกิจกรรมที่สามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย
- โครงการที่เกี่ยวกับการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต
- โครงการที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยว
- โครงการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอาชีพหลักไม่ว่าจะเป็นทางด้านฝีมือ แรงงาน การเกษตร ค้าขาย เป็นต้น
Content 12: ตัวอย่างโครงการของหมู่บ้านด้านสังคม
การริเริ่มทำโครงการของหมู่บ้านทางด้านสังคม เป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินศักยภาพและความสามารถของทุกคนในหมู่บ้าน การมีตัวอย่างของโครงการของหมู่บ้านด้านสังคม จะทำให้เราเห็นภาพและวางแผนการทำงานตามแผนพัฒนาหมู่บ้านได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโครงการของหมู่บ้านด้านสังคมมีดังต่อไปนี้
- โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย พึ่งพาคนอื่นมากกว่าตนเอง การสร้างการมีส่วนร่วม ฯลฯ
- โครงการที่เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการของหมู่บ้าน
- โครงการที่เกี่ยวกับการก่อสร้างหรือซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เป็นต้น
Content 13: ตัวอย่างโครงการของหมู่บ้านด้านทรัพยากรธรรมชาติ
มนุษย์กับธรรมชาติอยู่อาศัยและพึ่งพิงซึ่งกันและกัน ดังนั้นการทำโครงการหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องกับด้านทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อเราได้รับมาจากธรรมชาติ เราก็ต้องคืนสู่ธรรมชาติด้วยเช่นกัน ลักษณะของโครงการหมู่บ้านด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีตัวอย่างมีดังต่อไปนี้
- โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเตรียมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- โครงการที่เกี่ยวกับการปลูกป่าทดแทน
- โครงการที่การคัดแยกและจัดการขยะ เป็นต้น
Content 14: ตัวอย่างโครงการของหมู่บ้านด้านการบริหารจัดการ
วันนี้มีตัวอย่างของโครงการของหมู่บ้านด้านการบริหารจัดการ มาแนะนำพ่อแม่พี่น้องคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตน มีดังต่อไปนี้
- โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสร้างกฎกติกาของหมู่บ้าน
- โครงการที่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ข้อมูล ข่าวสาร
- โครงการที่เกี่ยวกับการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เป็นต้น
Content 15: ตัวอย่างโครงการของหมู่บ้านด้านความมั่นคง
การที่จะทำให้หมู่บ้านของเรามีความเข้มแข็ง มั่นคง ปลอดภัย ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นจากคนในหมู่บ้านเดียวกัน หรือหมู่บ้านใกล้เคียง ดังนั้นการมีโครงการที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับหมู่บ้านและชุมชนอื่น ๆ ย่อมส่งผลดีต่อทั้งทางหมู่บ้านของเราเอง และหมู่บ้านใกล้เคียงอื่น ๆ ซึ่งตัวอย่างของโครงการของหมู่บ้าน ด้านความมั่นคง มีดังต่อไปนี้
- โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
- โครงการที่เกี่ยวกับการตั้งเวรยามรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน
- โครงการที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ในพื้นที่
- โครงการเกี่ยวกับการหาข่าว การสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหมู่บ้านข้างเคียง เป็นต้น