คณะกรรมการหมู่บ้าน

โครงสร้างของคณะกรรมการหมู่บ้าน

กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือ กม. เป็นผู้เสนอแนะและให้คำปรึกษาผู้ใหญ่บ้านในการปฏิบัติหน้าที่ จึงถือได้ว่า กม. เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ โดยเริ่มแรกกฎหมายกำหนดให้ กม. ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธานผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่น้อยกว่า ๒ คน

แต่ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๕๑ เกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน กม. โดยยึดหลัก “การบูรณาการคน และบูรณาการงานในหมู่บ้าน”

โครงสร้างของคณะกรรมการหมู่บ้าน ประกอบด้วย

คณะกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง ได้แก่

  1. ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธาน กม.
  2. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
  3. สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภูมิลำเนาในหมู่บ้าน (ส.อบต. สท. สจ.)
  4. ผู้นำ หรือผู้แทนกลุ่มองค์กร ในหมู่บ้าน

คณะกรรมการหมู่บ้านโดยการเลือก

ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประชาชนในหมู่บ้านเลือก หมู่บ้านละอย่างน้อย ๒ คน แต่ไม่เกิน ๑๐ คน

ดังนั้นในแต่ละหมู่บ้านจะมี กม. อย่างน้อย หมู่บ้านละ ๑๒ คน ทั้งนี้ กม. โดยตำแหน่งจะมีหมู่บ้านละมากน้อยแค่ไหนเพียงไรนั้นก็ขึ้นอยู่ว่าในหมู่บ้านนั้นมีการแบ่งคุ้ม หรือมีกลุ่มต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด ถ้ามีการแบ่งคุ้มมาก หรือว่ามีกลุ่มต่าง ๆ มาก หมู่บ้านนั้นก็จะมี กม. โดยตำแหน่งมาก แต่ถ้ามีน้อยหมู่บ้านนั้นก็จะมี กม. โดยตำแหน่งน้อย

ส่วน กม. ผู้ทรงคุณวุฒินั้นกฎหมายกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านเลือกกันเองเป็น กม. ผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนจำนวนจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ที่ประชาชนในหมู่บ้านจะเป็นผู้กำหนดตามความเหมาะสมของหมู่บ้าน แต่ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่า ๒ คน แต่ไม่เกิน ๑๐ คน แต่วาระของ กม. ผู้ทรงคุณวุฒิจะมีแตกต่างจาก กม. โดยตำแหน่ง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ กม. ผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระ ๔ ปี นับจากวันที่นายอำเภอได้มีประกาศแต่งตั้ง ดังนั้น ทุกๆ ๔ ปี หมู่บ้านจะต้องมีการเลือก กม. ผู้ทรงคุณวุฒิกันใหม่