คณะกรรมการหมู่บ้าน

สิ่งที่ กม. ต้องปฏิบัติ

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้แบ่ง กม. ออกเป็นคณะทำงานด้านต่างๆ แล้ว ก่อนที่คณะทำงานแต่ละด้านจะทำงานตามที่ได้รับมอบหมายก็จะต้องมีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือแนวทางการทำงานในแต่ละเรื่องว่าควรจะเป็นอย่างไรเพื่อระดมสมองและหาทางออกร่วมกันก่อนที่จะลงมือทำงาน กล่าวคือต้อง “ร่วมกันคิด แล้วแยกกันทำ” โดยแต่ละตำแหน่งควรแสดงบทบาท ดังนี้

ผู้ใหญ่บ้าน (ประธาน กม. หรือนายกรัฐมนตรีของหมู่บ้าน)

  1. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน
  2. ศึกษากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ กม. ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดเพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
  3. ประชุม กม. สม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ  ๑ ครั้ง เพื่อแจ้งข้อราชการและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาหมู่บ้าน
  4. มอบหมายงาน กระจายความรับผิดชอบ ให้คณะทำงานแต่ละด้านตามความรู้ ความสามารถ สิ่งสำคัญต้องเน้นการทำงานเป็นทีม
  5. สร้างเครือข่ายและแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
  6. ติดตามผลงานตามที่ได้มอบหมายว่าเป็นอย่างไร ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมส่วนใดหรือไม่
  7. ประเมินผลงานตามที่ได้มอบหมายว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงไร สมควรจะมอบหมายงานนั้นๆ ให้ทำต่อหรือไม่ ถ้าไม่ ควรสับเปลี่ยนหมุนเวียนหน้าที่ให้เหมาะสม
  8. ปฏิบัติตนเป็นผู้ประสานงานที่ดี

 

กรรมการหมู่บ้าน (คณะรัฐมนตรีของหมู่บ้าน)

  1. ศึกษาทำความเข้าใจบทบาทอำนาจหน้าที่ของ กม. ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
  2. ร่วมประชุม กม. อย่างสม่ำเสมอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอปัญหาความต้องการของหมู่บ้าน
  3. ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหากมีปัญหาอุปสรรค ต้องแจ้งประธาน กม. ทราบเพื่อหาแนวทางแก้ไข
  4. ให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่มีโครงการหรือกิจกรรมมาดำเนินงานในหมู่บ้าน
  5. เสนอปัญหาของหมู่บ้านพร้อมแนวทางแก้ไขต่อที่ประชุม กม.
  6. มีจิตสาธารณะ ทำงานเพื่อหมู่บ้าน