นอกจาก กม. จะมีหน้าที่ตามกฎหมาย (มาตรา ๒๘ ตรี แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑ ๑] พ.ศ. ๒๕๕๑ ทั้ง ๖ ข้อ ข้างต้นแล้ว ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้าน การปฏิบัติหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๑ ยังกำหนดให้ กม. แบ่งออกเป็นคณะทำงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย ดังนี้
๑. ด้านอำนวยการ มีหน้าที่ ดังนี้
- งานธุรการ การจัดเก็บเอกสารต่างๆ ของหมู่บ้าน
- การจัดประชุม เช่น การประชุม กม. การประชุมหมู่บ้านฯ
- การรับจ่ายและเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของหมู่บ้าน
- การประชาสัมพันธ์ข่าวสารสร้างความเข้าใจกับประชาชน
- การประสานงานและติดตามการทำงานของคณะทำงานด้านต่างๆ ทั้ง ๗ คณะ
- การจัดทำรายงานผลการดำเนินการของคณะทำงานในรอบปีว่ามีผลงานในเรื่องใดบ้าง
- งานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย
๒. ด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่ ดังนี้
- การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- การส่งเสริมอุดมการณ์และวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย โดยยึดหลักกฎหมาย ความมีเหตุผล และสันติวิธี ปฏิบัติตามเสียงข้างมาก รับฟังเสียงข้างน้อย มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองและสังคม เสียสละและรับผิดชอบต่อส่วนรวม
- การส่งเสริมดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของหมู่บ้าน
- การสร้างความเป็นธรรมและประนีประนอมข้อพิพาท
- การตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อย และการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในหมู่บ้าน
- การคุ้มครองดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ป่าชุมชน เป็นต้น
- การป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและภยันตรายของหมู่บ้าน ทั้งภัยที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น พายุ โคลนถล่ม น้ำท่วมฯ และภัยจากการกระทำของมนุษย์ เช่น โจรปล้น ลักทรัพย์ การก่อความไม่สงบ เป็นต้น
๓. ด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน มีหน้าที่ ดังนี้
- การบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน
- การประสานจัดทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านร่วมกับคณะทำงานด้านต่างๆ เพื่อดำเนินการหรือขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น ภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- การรวบรวมและจัดทำข้อมูลต่างๆ ของหมู่บ้าน
- การติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาหมู่บ้าน
๔. ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ มีหน้าที่ ดังนี้
- การส่งเสริมการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในหมู่บ้าน
- การพัฒนาและส่งเสริมการประกอบอาชีพ การผลิตและการตลาดเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน
- งานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย
๕. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข มีหน้าที่ ดังนี้
- การพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมถึงการจัดสวัสดิการต่างๆ ของหมู่บ้าน
- การสงเคราะห์ผู้ยากจนที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้
- การส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- การสาธารณสุข
๖. ด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีหน้าที่ ดังนี้
การส่งเสริมการศึกษา ศาสนา การบำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรมจารีตประเพณี และภูมิปัญญาของหมู่บ้าน หรืองานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย
๗. ด้านอื่นๆ ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ว่าสมควรจะจะตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมจาก ๖ คณะข้างต้นหรือไม่ เช่นด้านการพัฒนาการเกษตร ด้านเยาวชน ด้านการพัฒนาการเมืองและการอำนวยความเป็นธรรม เป็นต้น